ศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญาและบ่มเพาะวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สิทธิบัตรการประดิษฐ์ (Patent)

1. สิทธิบัตรการประดิษฐ์คืออะไร

สิทธิบัตรการประดิษฐ์ เป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่เกิดจากผลงานสร้างสรรค์จากการประดิษฐ์ที่มีลักษณะของการแก้ปัญหาทางเทคนิคที่ไม่สามารถคิดขึ้นโดยง่าย

การประดิษฐ์ (Invention) หมายถึง ความคิดสร้างสรรค์เกี่ยวกับ ลักษณะองค์ประกอบ โครงสร้างหรือกลไกของผลิตภัณฑ์ รวมทั้งกรรมวิธีในการผลิตการรักษา หรือปรับปรุงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้ดีขึ้น หรือทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ขึ้นใหม่ ที่แตกต่างไปจากเดิม

2. การได้มาซึ่งความคุ้มครอง

การประดิษฐ์จะได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 ก็ต่อเมื่อนำการประดิษฐ์นั้นมายื่นขอรับความคุ้มครอง และได้รับการจดทะเบียนจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เท่านั้น

3. เหตุผลในการให้ความคุ้มครองสิทธิบัตรการประดิษฐ์

3.1 เป็นการคุ้มครองสิทธิอันชอบธรรมของผู้ประดิษฐ์ เนื่องจากผู้ประดิษฐ์ได้ใช้สติปัญญาและความพยายามของตนรวมทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่จะมีประโยชน์แก่มนุษย์ ดังนั้น หากการคิดค้นดังกล่าวสามารถทำให้เกิดผลตอบแทนในทางเศรษฐกิจหรือในเชิงพาณิชย์ได้ ก็ควรถือเป็นสิทธิของผู้ประดิษฐ์คิดค้นที่รัฐควรให้ความคุ้มครอง

3.2 เป็นการให้รางวัลตอบแทนแก่ผู้ประดิษฐ์ เนื่องจากผลงานที่คิดค้นขึ้นทำให้ชีวิตมีความเป็นอยู่ของมนุษย์ได้รับความสะดวกสบายและมีคุณภาพที่ดียิ่งขึ้น ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น สังคมก็ควรให้รางวัลตอบแทนแก่ผู้สร้างคุณประโยชน์ดังกล่าว โดยการให้ความคุ้มครองป้องกันมิให้ผู้อื่นแสวงหาประโยชน์จากผลงานดังกล่าวนั้นโดยมิชอบ

3.3 เพื่อจูงใจให้มีการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่ๆ ขึ้น เนื่องจากการประดิษฐ์คิดค้นจะต้องมีการลงทุนทั้งในด้านค่าใช้จ่าย เวลา และสติปัญญาอันพิเศษของมนุษย์ แต่เมื่อมีการเปิดเผยสาระสำคัญในการประดิษฐ์คิดค้น หรือมีการผลิตเป็นสินค้าเพื่อออกจำหน่ายแล้ว บุคคลอื่นสามารถลอกเลียนแบบได้โดยง่าย ดังนั้น จึงจำเป็นที่รัฐต้องให้ความคุ้มครอง อันจะเป็นการกระตุ้นให้นักประดิษฐ์คิดค้นมีกำลังใจ และมีความมั่นใจในการคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ

3.4 เพื่อกระตุ้นให้มีการเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับการประดิษฐ์คิดค้นใหม่ๆ ในการให้ความคุ้มครองนี้ ได้กำหนดให้มีการเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับการประดิษฐ์คิดค้นนั้นๆ จนทำให้สามารถนำไปศึกษา ค้นคว้า วิจัย และพัฒนาต่อไป เพื่อส่งผลให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีที่สูงขึ้น

3.5 เพื่อจูงใจให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการลงทุนจากต่างประเทศ การจัดระบบให้มีการคุ้มครองสิทธิบัตรย่อมทำให้เจ้าของเทคโนโลยีจากต่างประเทศมีความมั่นใจในการลงทุนหรือถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่ผู้ร่วมทุนในประเทศ

4. เงื่อนไขหรือลักษณะของการรับความคุ้มครองสิทธิบัตรการประดิษฐ์

4.1 เป็นการประดิษฐ์ที่คิดค้นขึ้นใหม่ คือ การประดิษฐ์ที่แตกต่างไปจากเดิม ยังไม่เคยมีใช้หรือแพร่หลายมาก่อนในประเทศ หรือไม่เคยเปิดเผยสาระสำคัญ หรือรายละเอียดในเอกสาร สิ่งพิมพ์ หรือการนำออกแสดง หรือเปิดเผยต่อสาธารณชนมาก่อนทั้งในและนอกประเทศก่อนวันยื่นคำขอ และยังไม่เคยได้รับสิทธิบัตรมาก่อน

4.2 เป็นการประดิษฐ์ที่มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้น คือ มีลักษณะที่เป็นการแก้ไขปัญหาทางเทคนิค หรือไม่เป็นการประดิษฐ์ที่ทำได้โดยง่ายต่อผู้ที่มีความชำนาญในระดับสามัญสำหรับงานประเภทนั้น

4.3 เป็นการประดิษฐ์ที่สามารถนำไปประยุกต์ในทางอุตสาหกรรมได้

5. สิ่งที่ขอรับสิทธิบัตรไม่ได้

5.1 จุลชีพและส่วนประกอบส่วนใดส่วนหนึ่งของจุลชีพที่มีอยู่ตามธรรมชาติ สัตว์ พืช หรือสารสกัดจากสัตว์หรือพืช

5.2 กฎเกณฑ์และทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์

5.3 ระเบียบข้อมูลสำหรับการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์

5.4 วิธีการวินิจฉัย บำบัด หรือรักษาโรคมนุษย์หรือสัตว์

5.5 การประดิษฐ์ที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี อนามัยหรือสวัสดิภาพของประชาชน

6. การตัดสินใจเลือกรูปแบบการขอรับความคุ้มครอง

เมื่อได้ทำการประดิษฐ์คิดค้นหรือออกแบบผลิตภัณฑ์ขึ้นมา และประสงค์จะขอรับความคุ้มครองอาจจะมีปัญหาว่าควรจะขอรับความคุ้มครองในรูปแบบใดจึงเหมาะสม ทั้งนี้ ผู้ที่ประสงค์จะขอรับความคุ้มครองควรที่จะคำนึงถึงสิ่งต่างๆ ดังต่อไปนี้

1. สิ่งที่คิดค้นขึ้นมานั้นเป็นการประดิษฐ์หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ในกรณีนี้สามารถที่จะพิจารณาได้ง่ายๆ ว่า ถ้าสิ่งนั้นเป็นการคิดค้นที่ก่อให้เกิดลักษณะใหม่ที่มีหน้าที่การทำงาน ประโยชน์ใช้สอยก็สามารถสรุปได้ทันที่ว่าเป็นการประดิษฐ์ แต่ถ้าสิ่งนั้นเป็นการคิดค้นเกี่ยวกับรูปร่าง ลักษณะ หรือลวดลายที่ปรากฏอยู่บนตัวผลิตภัณฑ์ เพื่อให้เกิดความสวยงาม สามารถสรุปได้ว่าเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ซึ่งควรที่จะยื่นขอรับความคุ้มครองสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์

ในกรณีที่เป็นการประดิษฐ์ ก็ต้องสินใจอีกว่าควรที่จะขอรับความคุ้มครอง สิทธิบัตรการประดิษฐ์หรืออนุสิทธิบัตร ในกรณีนี้ ผู้ขอความคุ้มครองควรที่จะคำนึงถึงต่อไปว่า สิงประดิษฐ์นั้นมีเทคนิคที่ซับซ้อนหรือไม่ หากมีเทคนิคที่ซับซ้อนก็ควรที่จะขอรับความคุ้มครองสิทธิบัตรการประดิษฐ์ ทั้งนี้เนื่องจากเงื่อนไขที่ว่า จะต้องเป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ มีขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น และสามารถประยุกต์ใช้ในทางอุตสาหกรรมได้นั่นคือจะต้องดูว่าลักษณะของสิ่งประดิษฐ์ควรที่จะอยู่ภายใต้เงื่อนไขใด

2. องค์ประกอบอื่นๆ เช่น ค่าธรรมเนียมที่ถูกกว่า อายุการคุ้มครอง ขั้นตอนการจดทะเบียนที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน เป็นต้น ซึ่งผู้ขออาจจะนำมาประกอบการพิจารณาเลือกว่าจะยื่นคำขอแบบใด

7. ขั้นตอนการยื่นขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์

7.1 หลักฐานการยื่นจดสิทธิบัตรการประดิษฐ์
ลำดับ หลักฐาน
1

แบบฟอร์มคำขอรับสิทธิบัตร โดยศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญาและบ่มเพาะวิสาหกิจ ได้เน้นสีเหลือง ในส่วนที่ต้องใส่รายละเอียด ได้แก่

  • ชื่อที่แสดงถึงการประดิษฐ์
  • ชื่อผู้ประดิษฐ์ (ทุกคน)
  • หน่วยงานต้นสังกัด
  • ตัวเลขจำนวนหน้าของแต่ละส่วน ซึ่งการนับหน้าจะแบ่งการนับเป็น 4(5) ชุด ได้แก่ ชุดแบบพิมพ์คำขอ ชุดรายละเอียดการประดิษฐ์ ชุดข้อถือสิทธิ ชุดบทสรุปการประดิษฐ์ และชุดรูปเขียน (ถ้ามี)
2 คำอธิบายการเขียนรายละเอียดการประดิษฐ์ ซึ่งเป็นการอธิบายแต่ละหัวข้อว่ามีรายละเอียดและหลักการเขียนอย่างไร
3 รูปแบบรายละเอียดการประดิษฐ์ ซึ่งเป็นแบบฟอร์มที่มีการเขียนเลขหน้า และเลขบรรทัด ตามแบบฟอร์มมาตรฐาน
4

หนังสือสัญญาโอนสิทธิขอรับสิทธิบัตร โดยศูนย์ฯ ได้เน้นสีเหลือง ในส่วนที่ต้องใส่รายละเอียด ได้แก่

  • วันที่
  • ชื่อผู้ประดิษฐ์ (ทุกคน)
  • หน่วยงานต้นสังกัด
  • ชื่อที่แสดงถึงการสิ่งประดิษฐ์
7.2 ขั้นตอนการยื่นจดสิทธิบัตรการประดิษฐ์
ลำดับ รายละเอียด
1 ผู้ประดิษฐ์ตรวจทาน/แก้ไข แบบฟอร์มคำขอรับสิทธิบัตร รายละเอียดการประดิษฐ์ และหนังสือสัญญาโอนสิทธิ์
2 ส่งไฟล์กลับมายังอีเมลศูนย์ฯ tu.tuipi@gmail.com เพื่อที่จะให้เจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบ ทำความเข้าใจ และแก้ไขส่งกลับไปให้ผู้ประดิษฐ์ อ่านเนื้อหาอีกครั้งว่ายังมีเนื้อหาที่ตรงกับความประสงค์ของผู้ประดิษฐ์หรือไม่
3 เมื่อเห็นว่าถูกต้องสมบูรณ์แล้ว ให้ผู้ประดิษฐ์ซึ่งเป็นเจ้าของผลงาน ส่งไฟล์ที่แก้ไขกลับมายังอีเมลศูนย์ฯ อีกครั้ง
4 เมื่อหลักฐานครบ รายละเอียดการประดิษฐ์ถูกต้อง เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ฯ จะนำหลักฐานทั้งหมดไปยื่นคำขอรับสิทธิบัตรที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา และเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ฯ จะนำหลักฐานการยื่นคำขอที่ได้และเลขที่คำขอรับสิทธิบัตร ส่งคืนเจ้าของผลงานทั้งในรูปของ เอกสาร (Hard copy) และไฟล์ เพื่อเก็บเป็นหลักฐานร่วมกันกับศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญาฯ ต่อไป
7.3 เรื่องความเป็นเจ้าของสิทธิบัตรการประดิษฐ์ มี 2 กรณีดังนี้
ลำดับ ความเป็นเจ้าของ รายละเอียด
1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 1. ตามระเบียบของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุไว้ว่า “ผลงานสิทธิบัตร อนุสิทธิบัตรที่ได้ถือเป็นสิทธิของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดังนั้นจึงต้องมีการเซ็นยินยอมโอนสิทธิจากผู้ประดิษฐ์ทุกท่าน ซึ่งมีฐานะเป็น “ผู้โอนสิทธิ” ให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์โดย “ผู้รับโอนสิทธิ” คือ อธิการบดี และมีระเบียบการแบ่งปันผลประโยชน์ตามเอกสารแนบ (ข้อดีของการโอนสิทธิให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คือ จะได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมจากกรทรัพย์สินทางปัญญาในทุกขั้นตอน)
2 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ร่วมกับสถาบันอื่นๆ 2. หากมีการทำวิจัยร่วมกับบุคลากรจากสถาบันอื่น ผลงานสิทธิบัตร อนุสิทธิบัตรนั้นต้อง ถือเป็นสิทธิบัตรร่วมของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ร่วมกับสถาบันนั้นๆ และต้องมีการเซ็นยินยอมโอนสิทธิจากผู้ประดิษฐ์ทุกท่าน ให้ทั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสถาบันดังกล่าว และมีการแบ่งปันผลประโยชน์ตามข้อตกลงร่วมกันของ 2 สถาบัน

8. แบบฟอร์มในการขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์

01. แบบ สป/สผ/อสป/001-ก คำขอรับสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร

02. แบบ สป/สผ/อสป/001-ก(พ) คำรับรองเกี่ยวกับสิทธิขอรับสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร

03. Form PI/PD/PP/001-A (Add) Statement of Applicant's Right to Apply For a Pattent/Petty Patent

04. แบบ สป/อสป/004-ก คำขอเปลี่ยนแปลงประเภทของสิทธิ์

05. แบบ สป/สผ/อสป/003-ก คำขอแก้ไขเพิ่มเติมคำขอรับสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร

06. แบบ สป/สผ/อสป/005-ก คำขอให้ตรวจสอบการประดิษฐ์

07. แบบคำร้องขอให้หน่วยงานอื่นตรวจสอบการประดิษฐ์

08. แบบคำร้องขอคืนเงินค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบการประดิษฐ์

09. แบบ สป/สผ/007-ค คำคัดค้าน

10. แบบ สป/สผ/008-ก คำโต้แย้ง

11. แบบ สป/สผ/อสป/009-ก คำอุทธรณ์

12. แบบ สป/สผ/005-ก(พ) คำขอนำพยานหลักฐานมาแสดงหรือแถลงเพิ่มเติม

13. แบบ สป/สผ/205-ก คำขอจดทะเบียนการอนุญาตให้ใช้สิทธิตามสิทธิบัตร

14. แบบ สป/สผ/อสป/206-ค คำขอจดทะเบียนการโอนและการรับโอนสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตรโดยทางมรดก

15. แบบ สป/สผ/อสป/010-ก คำขอชำระค่าธรรมเนียมรายปี/คราวเดียว/ต่ออายุ

16. แบบ สป/สผ/อสป/006-ก คำขอตรวจค้นคำขอรับสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร และคัดสำเนา

17. แบบ สป/สผ/อสป/002-ก คำขอถือสิทธิให้ถือวันยื่นคำขอในต่างประเทศเป็นครั้งแรกเป็นวันยื่นคำขอในไทย

18. แบบ สป/สผ/อสป/011-ก คำขออื่นๆ

9. ตัวอย่างสิทธิบัตรการประดิษฐ์

สิทธิบัตร สาขาออกแบบผลิตภัณฑ์

สิทธิบัตร สาขาเคมีชีวภาพ

สิทธิบัตร สาขาวิศวกรรม/ไฟฟ้า/ฟิสิกส์

สิทธิบัตร สาขาเคมี

10. ฐานข้อมูลสิทธิบัตรการประดิษฐ์

ระบบสืบค้นข้อมูลสิทธิบัตรออนไลน์ (DIP)

USPTO Patent Full

Espacenet Patent Search

PATENTSCOPE

Japan Platform for Patent Information

KIPRIS

AusPat

DEPATISnet

WIPO

ศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญาและบ่มเพาะวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ห้อง 114 ชั้น 1 อาคารโดมบริหาร 99 หมู่ 18 ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังวหัดปทุมธานี 12120
Telephone: 02-5644440 ต่อ 1664-1665, 1789 Mobile Phone Number: 02-5642887
E-mail: tu_tubi@hotmail.com, tu.tuipi@gmail.com

Copyright © 2016 TUIPI. All rights reserved.