ศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญาและบ่มเพาะวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เครื่องหมายการค้า (Trademark)

เครื่องหมายการค้า หมายถึง เครื่องหมายหรือสัญลักษณ์หรือตราที่ใช้กับสินค้าหรือบริการ ซึ่งเครื่องหมายที่ให้ความคุ้มครองตาม พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2543 มี 4 ประเภท ดังต่อไปนี้

1. เครื่องหมายการค้า (Trade Mark) คือเครื่องหมายที่ใช้เป็นที่หมายเกี่ยวข้องกับสินค้าเพื่อแสดงว่าสินค้าที่ ใช้เครื่องหมายนั้นแตกต่างกับสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น เช่น บรีส มาม่า กระทิงแดง เป็นต้น

2. เครื่องหมายบริการ (Service Mark) คือ เครื่องหมายที่ใช้เป็นที่หมายหรือเกี่ยวข้องกับบริการ เพื่อแสดงว่าบริการที่ใช้เครื่องหมายนั้นแตกต่างกับบริการที่ใช้เครื่องหมาย บริการของบุคคลอื่น เช่น เครื่องหมายของสายการบิน ธนาคาร โรงแรม เป็นต้น

3. เครื่องหมายรับรอง (Certification Mark) คือ เครื่องหมายที่เจ้าของเครื่องหมายรับรองใช้เป็นที่หมายหรือเกี่ยวข้องกับ สินค้าและบริการของบุคคลอื่น เพื่อเป็นการรับรองคุณภาพของสินค้า หรือบริการนั้น เช่น เชลล์ชวนชิม แม่ช้อยนางรำ ฮาลาล (Halal) เป็นต้น

4. เครื่องหมายร่วม (Collective Mark) คือ เครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการที่ใช้โดยบริษัทหรือวิสาหกิจในกลุ่ม เดียวกัน หรือโดยสมาชิกของสมาคม กลุ่มบุคคล หรือองค์กรอื่นใดของรัฐหรือเอกชน เช่น ตราช้างของบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด เป็นต้น

การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าระหว่างประเทศ ตามพิธีสารกรุงมาดริด (Madrid Protocol)

ปัจจุบันผู้ประกอบการค้า ได้ใช้เครื่องหมายการค้าเป็นเครื่องมือนำทางการค้า ทั้งภายในประเทศและการส่งออกสินค้าไปจำหน่ายยังต่างประเทศ เจ้าของเครื่องหมายการค้าจึงมีความจำเป็นต้องจดทะเบียนขอรับความคุ้มครองสิทธิในประเทศต่าง ๆ ก่อนส่งสินค้าไปจำหน่าย เพื่อป้องกันปัญหาการละเมิดเครื่องหมายการค้า และมิให้ผู้ใดนำเครื่องหมายการค้าของตนไปจดทะเบียนในต่างประเทศโดยมิได้เป็นเจ้าของ กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้มีนโยบายในการส่งเสริมการให้บริการขอรับความคุ้มครองเครื่องหมายการค้าในต่างประเทศด้วยความสะดวก รวดเร็ว และประหยัดค่าใช้จ่าย ด้วยการศึกษาแนวทางการเข้าเป็นภาคีพิธีสารกรุงมาดริด (Madrid Protocol)

หากประเทศไทย เข้าเป็นภาคีพิธีสารกรุงมาดริด ผู้ประกอบการหรือผู้ส่งออกของไทยก็จะได้รับประโยชน์ที่จะสามารถยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เพื่อขอรับความคุ้มครองในประเทศต่าง ๆ ได้ หลายประเทศในคราวเดียวกัน โดยยื่นคำขอจดทะเบียนเพียงคำขอเดียว ใช้เพียงภาษาเดียว(อังกฤษ ฝรั่งเศส หรือสเปน) และเสียค่าธรรมเนียมเพียงครั้งเดียว ซึ่งก็จะทำให้ได้รับความสะดวก รวดเร็วในการยื่นคำขอจดทะเบียน และประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางอีกด้วย

หลักฐานการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

ลำดับ หลักฐาน
1

ใบคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า --- ซึ่งศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญาฯ ได้ เน้นสีเหลือง ได้แก่

  • ชื่อเจ้าของเครื่องหมายการค้า
  • รูปเครื่องหมาย
  • คำอ่านและแปล (ถ้ามี)
  • จำพวก และรายการบริการ
  • ระบุการขอจดทะเบียน

ทั้งนี้ต้องเตรียมสำเนาใบคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า 5 ฉบับ และรูปเครื่องหมายการค้า 5 รูป

2 รูปเครื่องหมาย --- (โดยถ้าข้อมูลมีจำนวนเกิน 20 แผ่น ให้ส่งเป็นซีดีแทนตัวเอกสาร)
3

หนังสือรับรองความเป็นเจ้าของงานลิขสิทธิ์ --- ซึ่งศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญาฯ ได้ เน้นสีเหลือง ส่วนที่ต้องแก้ไข ได้แก่

  • ชื่อผู้ประดิษฐ์(ทุกท่าน)
  • หน่วยงานต้นสังกัด
  • ชื่อที่แสดงถึงการสิ่งประดิษฐ์

ขั้นตอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า

ลำดับ รายละเอียด
1 ตรวจทาน/แก้ไข แบบฟอร์มใบแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ (ข้อที่ 1.) ผลงานที่ยื่นประกอบคำขอ (ข้อที่ 2.) และหนังสือรับรองความเป็นเจ้าของงานลิขสิทธิ์ (ข้อที่ 3.) เรียบร้อยแล้ว
2 ให้ท่านส่งไฟล์กลับมายังอีเมลศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญาและบ่มเพาะวิสาหกิจ tu.tuipi@gmail.com เพื่อที่จะให้เจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบ ทำความเข้าใจ และแก้ไขกลับไปให้ท่านอ่านเนื้อหาอีกครั้งว่า ยังมีเนื้อหาที่ตรงกับความประสงค์ของผู้สร้างสรรค์หรือไม่่
3 ให้ท่าน (ซึ่งเป็นเจ้าของผลงาน) ส่งไฟล์ที่แก้ไขกลับมายังอีเมลศูนย์ฯ อีกครั้ง
4 เมื่อหลักฐานครบ รายละเอียดการประดิษฐ์ถูกต้อง เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ฯ จะนำหลักฐานทั้งหมดไปยื่นจดแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ ที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา และเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ฯ จะนำหลักฐานการยื่นที่ได้เลขที่คำขอลิขสิทธิ์แล้วส่งคืนเจ้าของผลงานทั้งในรูปของเอกสาร (Hard copy) และไฟล์ เพื่อเก็บเป็นหลักฐานร่วมกันกับศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญาฯ ต่อไป

แบบฟอร์มในการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า

01. แบบฟอร์ม ก.01 คำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการเครื่องหมายรับรองหรือเครื่องหมายร่วมสินค้าหรือบริการ

02. แบบฟอร์ม ก.02 คำคัดค้านการขอจดทะเบียนตาม

03. แบบฟอร์ม ก.03 อุทธรณ์

04. แบบฟอร์ม ก.04 คำขอโอนหรือรับมรดกสิทธิในคำขอที่ยื่นจดทะเบียนและคำขอโอนหรือรับมรดกสิทธิในเครื่องหมายที่จดทะเบียนแล้ว

05. แบบฟอร์ม ก.05 คำขอจดทะเบียนสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการ

06. แบบฟอร์ม ก.06 คำขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำขอจดทะเบียนตาม (1) (4) หรือ (5)

07. แบบฟอร์ม ก.07 คำขอต่ออายุการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรองหรือเครื่องหมายร่วม สินค้าหรือบริการ

08. แบบฟอร์ม ก.08

09. แบบฟอร์ม ก.09

10. แบบฟอร์ม ก.10 คำขอถือสิทธิวันที่ยื่นคำขอนอกราชอาณาจักรครั้งแรกหรือวันที่นำสินค้าที่ใช้เครื่องหมายออกแสดงในงานแสดงสินค้าระหว่างประเทศเป็นวันยื่นคำขอในราชอาณาจักรตามมาตรา 28 , 28 ทวิ

11. แบบฟอร์ม ก.11 ใบต่อแนบท้ายคำขอ

12. แบบฟอร์ม ก.12 หนังสือแสดงการปฏิเสธ

13. แบบฟอร์ม ก.13 หนังสือจดทะเบียนเครื่องหมายชุด

14. แบบฟอร์ม ก.14 หนังสือแจ้งฟ้องคดีต่อศาล คำพิพากษาและผลคดี

15. แบบฟอร์ม ก.15 หนังสือชี้แจงการถูกร้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียน

16. แบบฟอร์ม ก.16 บัตรหมาย

17. แบบฟอร์ม ก.17 หนังสือสัญญาโอน

18. แบบฟอร์ม ก.18 หนังสือมอบอำนาจ

19. แบบฟอร์ม ก.19 หนังสือขอผ่อนผันการส่งหลักฐาน

20. แบบฟอร์ม ก.20 หนังสือนำส่งเอกสารหลักฐานและคำชี้แจง

ขั้นตอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรอง เครื่องหมายร่วม

มีขั้นตอนโดยสังเขป ดังนี้

1. การตรวจค้น ก่อนยื่นคำขอจดทะเบียน ผู้ขอจดทะเบียนควรตรวจค้นเครื่องหมายของตนที่ประสงค์จะยื่นขอจดทะเบียนว่าเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้วหรืออยู่ระหว่างขอจดทะเบียนหรือไม่ โดยตรวจค้นด้วยตนเองได้ที่กลุ่มบริการตรวจรับคำขอ ชั้น 3 กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ หรือทางอินเตอร์เน็ตผ่านเว็บไซต์กรมฯ (www.ipthailand.go.th) ทั้งนี้ ต้องชำระค่าธรรมเนียม 100 บาท ต่อชั่วโมง อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้ขอจดทะเบียนยื่นคำขอจดทะเบียนแล้ว เจ้าหน้าที่จะดำเนินการตรวจสอบเครื่องหมายและพิจารณาคำขอจดทะเบียนโดยละเอียดอีกครั้งหนึ่ง

2. การยื่นคำขอจดทะเบียน ผู้ขอจดทะเบียนจะต้องจัดเตรียมคำขอจดทะเบียน (แบบ ก.01) โดยกรอกแบบคำขอให้ครบถ้วนโดยการพิมพ์ และแนบหลักฐานประกอบคำขอ พร้อมชำระค่าธรรมเนียมการยื่นคำขอจดทะเบียนสินค้าหรือบริการ อย่างละ 500 บาท สามารถยื่นคำขอได้ 4 ช่องทาง คือ 1) กลุ่มบริการตรวจรับคำขอ ชั้น 3 กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ 2) สำนักงานพาณิชย์จังหวัด 3) ทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ และ 4) ทางอินเตอร์เน็ตผ่านเว็บไซต์กรมฯ (www.ipthailand.go.th)

3. การเตรียมคำขอและเอกสารประกอบ

คำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรองและเครื่องหมายร่วม ให้ใช้แบบ ก. 01

3.1 กรณียื่นเครื่องหมายรับรองให้ยื่นข้อบังคับว่าด้วยการใช้เครื่องหมายรับรอง โดยระบุถึงแหล่งกำเนิดส่วนประกอบวิธีการผลิตคุณภาพหรือคุณลักษณะอื่นใดของสินค้าหรือบริการที่จะรับรองตลอดจนหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขในการอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายรับรองนั้น

3.2 กรณียื่นเครื่องหมายร่วมให้ยื่นหลักฐานหรือคำชี้แจงที่แสดงถึงความสัมพันธ์ของผู้มีสิทธิใช้เครื่องหมายร่วมนั้น พร้อมทั้งระบุข้อความในใบต่อ (ก. 11) ว่าเครื่องหมายร่วมนั้นจะใช้โดยบุคคลหรือนิติบุคคลใดบ้างหรือจะใช้โดยสมาชิกทุกคนหรือสมาชิกคนใดของสมาคม สหกรณ์ สหภาพ สมาพันธ์ กลุ่มบุคคลหรือองค์กรใด

4. บัตรประจำตัวของเจ้าของ

4.1 บุคคลธรรมดา ให้ใช้สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือสำเนาบัตรประจำตัวอื่นๆ ที่ทางราชการออกให้ หรือสำเนาใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว หรือสำเนาหนังสือเดินทาง จำนวน 1 ฉบับ

4.2 นิติบุคคล ให้ใช้ต้นฉบับหนังสือรับรองนิติบุคคลที่ออกให้ไม่เกิน 6 เดือน จำนวน 1 ฉบับ

5 หนังสือตั้งตัวแทน หรือหนังสือมอบอำนาจ (กรณีมอบอำนาจให้บุคคลอื่นกระทำการแทนเจ้าของ)

5.1 กรณีการตั้งตัวแทนหรือมอบอำนาจได้กระทำในประเทศไทย ให้แนบเอกสาร ดังนี้

5.2 กรณีการตั้งตัวแทนหรือมอบอำนาจได้กระทำในต่างประเทศ ให้แนบเอกสารดังนี้

6. เอกสารประกอบคำขอจดทะเบียนอื่นๆ(ถ้ามี) เช่น หลักฐานพิสูจน์ลักษณะบ่งเฉพาะ หรือหนังสือผ่อนผันการนำส่งเอกสาร(แบบ ก.19) เป็นต้น

ค่าธรรมเนียม

การชำระค่าธรรมเนียม ขึ้นอยู่กับจำนวนรายการสินค้าหรือบริการที่จะจดทะเบียน ซึ่งแบ่งเป็น 2 ขั้นตอน ดังนี้

ขั้นตอนการยื่นคำขอจดทะเบียน ค่าธรรมเนียมสินค้าหรือบริการ อย่างละ 500 บาท

ขั้นตอนการรับจดทะเบียน ค่าธรรมเนียมสินค้าหรือบริการ อย่างละ 300 บาท

ข้อพึงระวัง

1. กรณีผู้ขอจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล (อาทิ บริษัท ห้างหุ้นส่วน) ให้ระบุชื่อเจ้าของในแบบ ก.01 เป็นชื่อนิติบุคคล มิใช่ชื่อกรรมการของนิติบุคคลดังกล่าว

2. หากมีการดำเนินการในนามของนิติบุคคล เช่น การยื่นคำขอจดทะเบียน การมอบอำนาจ เป็นต้น ต้องมีการลงลายมือชื่อโดยกรรมการผู้มีอำนาจลงนามและประทับตราสำคัญตามข้อกำหนดในหนังสือรับรองนิติบุคคล

3. กรณีเป็นกลุ่มแม่บ้าน วิสาหกิจชุมชน หรือองค์กรอื่นใด ที่ไม่ใช่นิติบุคคลหากต้องการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า จะต้องยื่นในนามประธานกลุ่มหรือผู้แทนที่กลุ่มมอบหมายให้ดำเนินการเป็นเจ้าของในนามของบุคคลธรรมดา เช่น นางทรัพย์สิน ปัญญา (ประธานกลุ่มแม่บ้าน.................) เป็นต้น พร้อมแนบรายงานการประชุมของกลุ่มที่มีการมอบหมายให้ดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าว

4. หากนำลายมือชื่อของบุคคลอื่นมาเป็นเครื่องหมายการค้า จะต้องมีหนังสือให้ความยินยอมประกอบคำขอจดทะเบียนด้วย

5. หากนำภาพของผู้ขอจดทะเบียนมาเป็นเครื่องหมายการค้า ผู้ขอจะต้องทำหนังสือแสดงเจตนาที่จะใช้ภาพของตนเองเป็นเครื่องหมายการค้าด้วย กรณีนำภาพของบุคคลอื่นมาใช้จะต้องมีหนังสืออนุญาตจากเจ้าของให้ใช้ภาพดังกล่าว หากเป็นภาพของบุคคลที่ตายแล้วจะต้องมีหนังสืออนุญาตจากบุพการี ผู้สืบสันดาน และคู่สมรส (ถ้ามี) ให้ใช้ภาพดังกล่าว

6. การระบุรายการสินค้าและบริการในคำขอจดทะเบียน (แบบ ก.01) ผู้ขอควรดูจากรายการสินค้าและบริการที่กรมฯ ได้จัดทำไว้เป็นหลัก โดยดูจาก www.ipthailand.go.th

7. หากเครื่องหมายที่ยื่นขอจดทะเบียนเป็นภาษาต่างประเทศ ให้ระบุคำอ่านและคำแปลตามพจนานุกรมให้ครบถ้วน สำหรับภาษาจีนให้ระบุคำอ่านและคำแปลทั้งตามสำเนียงจีนกลางและแต้จิ๋ว

8. กรณียื่นคำขอทางอินเตอร์เน็ตผ่านเว็บไซต์ www.ipthailand.go.th และชำระค่าธรรมเนียมผ่านระบบ I – banking หรือผ่านเคาน์เตอร์ธนาคาร หรือกรมทรัพย์สินทางปัญญา หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัด  ทั้งนี้ ผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนจะต้องจัดส่งเอกสารดังกล่าวให้แก่กรมทรัพย์สินทางปัญญาภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้มีการบันทึกข้อมูลลงในอินเตอร์เน็ต โดยมายื่นด้วยตนเองหรือส่งทางไปรษณีย์ก็ได้

ศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญาและบ่มเพาะวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ห้อง 114 ชั้น 1 อาคารโดมบริหาร 99 หมู่ 18 ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังวหัดปทุมธานี 12120
Telephone: 02-5644440 ต่อ 1664-1665, 1789 Mobile Phone Number: 02-5642887
E-mail: tu_tubi@hotmail.com, tu.tuipi@gmail.com

Copyright © 2016 TUIPI. All rights reserved.